วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ทุเรียนมีดีกว่าที่คิด





หน้านี้ฤดูนี้จะไม่พูดถึงทุเรียนก็คงไม่ได้ ด้วยที่ทุเรียนได้ถูกขนานนามว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ ด้วยรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้มีคนชอบและไม่ชอบรับประทานอยู่พอๆกัน ซึ่งถ้าในทางสุขภาพแล้วทุเรียนเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมีปริมาณค่าดัชนีน้ำตาลและมีไขมันมาก นอกจากนี้ในทุเรียนยังอุดมไปด้วยกำมะถัน เมื่อทานเข้าไปมากๆ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ร้อนในและรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวอีกด้วย จึงควรรับประทานแต่น้อย
อันที่จริงในทางการแพทย์แผนไทย ทุกส่วนของทุเรียนถือว่าเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยา สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับร่างกายคนเราได้ โดย
  • ใบมีรสขมเย็นเฝื่อน มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ
  • เนื้อทุเรียนมีรสหวานร้อน มีสรรพคุณให้ความร้อนแก้โรคผิวหนังท้าให้ฝีแห้งและขับพยาธิ
  • เปลือกทุเรียนมีรสฝาดเฝื่อนใช้สมานแผลแก้น้ำเหลืองเสียพุพองแก้ฝีตานซางคุมธาตุแก้คางทูม และไล่ยุงและแมลง
  • รากมีรสฝาดขมใช้แก้ไข้และแก้ท้องร่วง
คนในประเทศ ลาว เขมร และพม่า เมื่อครั้งอดีตมีความเชื่อว่าทุเรียนมีคุณสมบัติให้ความร้อนทำให้เกิดเหงื่อ ออกมากกว่าปกติ และลดความร้อนนี้ด้วยการรินน้ำลงในเปลือกทุเรียนแล้วดื่มน้ำนั้น อีกวิธีคือรับประทานเนื้อทุเรียนไปพร้อมกับมังคุด ด้วยคิดว่ามีคุณสมบัติให้ความเย็น

ความจริงทุเรียนถือว่าเป็นผลไม้ที่คุ้นเคยกันดีของคนในแถบเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ คำว่า ทุเรียน (durian) มาคำจากภาษามาเลย์ คือคำว่า duri (หนาม) ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองของบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกมาประมาณ 600 ปีมาแล้ว ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ได้พรรณนาถึงทุเรียนว่า “เนื้อในมันเหมือนคัสตาร์ดอย่างมาก รสชาติคล้ายอัลมอนด์” และ แต่มีเพียง Durio zibethinus เพียงชนิดเดียวเท่านั้น ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก จนมีตลาดเป็นสากล ในขณะทุเรียนชนิดที่เหลือมีขายแค่ในท้องถิ่นเท่านั้น ทุเรียนมีสายพันธุ์ประมาณ 100 สายพันธุ์ให้ผู้บริโภคเลือกรับประทาน นอกจากนี้ยังมีราคาสูงอีกด้วย ส่วนในประเทศไทยพบทุเรียนอยู่ 5 ชนิด

ทุเรียนในบ้านเรานั้นพบหลักฐานว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะเข้ามาจากที่ไหน และโดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่น่าเชื่อถือได้ว่า เป็นการนำมาจากภาคใต้ของประเทศไทยนั่นเองและในสมัยรัตนโกสินทร์ พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2318 ในระยะต้นเป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน จากพันธุ์ดี 3 พันธุ์ คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด สำหรับผู้ที่หากิ่งตอนจากพันธุ์ดีทั้ง 3 พันธุ์ไม่ได้ จึงใช้เมล็ดจากทั้ง 3 พันธุ์นั้นปลูก ทำให้เกิดทุเรียนลูกผสมขึ้นมากมาย ซึ่งรายชื่อพันธุ์ทุเรียนเท่าที่รวบรวมได้จากเอกสารได้ มีถึง 227 พันธุ์ เเต่ที่นิยมปลูกและนิยมรับประทานกันในปัจจุบันมี 4 พันธุ์ คือ หมอนทอง, ชะนี , ก้านยาว, และ กระดุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น